งานพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประจำปีการศึกษา 2563 -2564 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566
วันที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปหอประชุมสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จังหวัดนครปฐม ในการมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประจำปีการศึกษา 2563 – 2564 มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แยกเป็นสาขานิติศาสตร์ จำนวน 51 คน สาขาพยาบาลศาสตร์ จำนวน 50 คน สาขาวิทยาศาสตร์ จำนวน 234 คน สาขาเทคโนโลยี จำนวน 43 คน สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 33 คน สาขารัฐศาสตร์ จำนวน 38 คน สาขาการจัดการ จำนวน 16 คน สาขานิเทศศาสตร์ จำนวน 11 คน สาขาบริหารธุรกิจ จำนวน 246 คน สาขาบัญชี จำนวน 58 คน สาขาเศรษฐศาสตร์ จำนวน 8 คน สาขาศิลปศาสตร์ จำนวน 504 คน สาขาศึกษาศาสตร์ จำนวน 291 คน ปริญญาโท จำนวน 7 คน และปริญญาเอก จำนวน 4 คน รวมบัณฑิตเข้ารับปริญญาบัตร จำนวน 1,594 คน
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มีรากฐานมาจากโรงเรียนการเรือน กว่า 90 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ด้านงานบ้านการเรือน เติบโตจนเป็นวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และพัฒนาจนเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัยบนพื้นฐานความเข้มแข็งของความสามารถทางวิชาการที่มีมาอยู่เดิม ปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการบริหารจัดการที่เป็นรูปแบบของสวนดุสิต โดยมีอัตลักษณ์โดดเด่นสี่ด้าน ประกอบด้วย ด้านอาหาร การศึกษาปฐมวัย อุตสาหกรรมบริการ และการพยาบาลและสุขภาวะสําหรับเด็กและผู้สูงอายุ โดยดำเนินงานตามทิศทางของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต : จิ๋ว แต่ แจ๋ว โดยมีมิติการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ เพื่อผลักดันจุดเน้นอัตลักษณ์ทั้งสี่ สู่สาธารณชน เพิ่มความเชื่อมั่นทางวิชาการและผลสัมฤทธิ์คุณภาพการศึกษา ยกระดับและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทุกมิติ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมทั้งขยายโอกาสเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยการนําความรู้ ความเข้าใจในงานที่ปฏิบัติ รวมถึงความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย มาเติมเต็มรากฐานให้สมบูรณ์ เพื่อนําไปสู่เป้าหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยตามหลักการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน อีกทั้งได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความเข้มแข็งในด้านวิชาการที่ท้าทาย รวมถึงสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นบนพื้นฐานความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างผู้เรียน เน้นการลงมือปฏิบัติงานจริง เพื่อให้สามารถสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นและทักษะใหม่ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะ สอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการเรียนรู้ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย